วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

งานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พัฒนาน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ภาคกลาง

มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
ถ่ายทอดตัวอย่างความสำเร็จ “พัฒนาน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ”
วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗  มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พัฒนาน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น ๕ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ตัวจากอย่างความสำเร็จของการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ให้กับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนในพื้นที่ภาคกลางที่เข้าร่วมงาน





ดร.รอยล  จิตรดอน  กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การดำเนินงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้น้อมนำหลักการทรงงานและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นกรอบการดำเนินงาน ๓ ด้าน คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา โดยงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พัฒนาน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” เป็นส่วนหนึ่งของงาน “เข้าใจ” เพื่อถ่ายทอดความสำเร็จที่เกิดจากการ พัฒนา” การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ให้สาธารณชน โดยเฉพาะผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้กับท้องถิ่นตนเอง ซึ่งปัจจุบัน มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ มีเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ๕๓ ชุมชน รวมทั้งชุมชนในพื้นที่  ลุ่มน้ำ และมี ๒๘ แบบอย่างความสำเร็จของการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ที่มีความแตกต่างกันตามภูมิสังคม กระจายอยู่ทั่วประเทศ พร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ และความสำเร็จ เพื่อขยายผลไปยังชุมชนอื่น





               มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดงานในครั้งนี้ เพื่อให้จังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และประชาชนที่สนใจจากแต่ละจังหวัด เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะผู้นำท้องถิ่นที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น จะได้ถ่ายทอดความรู้และความสำเร็จที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไปขยายผลสู่ชุมชน เพื่อบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำกิน น้ำใช้ น้ำทำการเกษตร และนำไปปรับใช้เพื่อให้คนในท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริได้จัดขึ้นในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกภาคส่วนและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานได้อย่างทั่วถึง โดยจัดขึ้นแล้วใน ๓ ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗  ภาคใต้ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๗ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗

วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2557

“เทิด” ด้วย “ทำ” เผยแพร่ความรู้ พร้อมสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ


 มูลนิธิอุทกพัฒน์ ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร 
และนิตยสาร GREEN LIVING จัดงาน เทิดด้วย ทำเผยแพร่ความรู้
พร้อมสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ
 
มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. และ นิตยสาร GREEN LIVING จับมือจัดกิจกรรม  เทิดด้วย ทำ” เมื่อวันที่ 6-8 มิถุนายน 2557 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างจิตสำนึก และผลักดันสู่การลงมือทำ โดยการนำเสนอแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจที่นำไปสู่การลงมือทำ พร้อมเผยข้อมูลคนกรุงเทพฯ บริโภคทรัพยากรมากที่สุดของประเทศ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เฉลี่ย 7.1 ตันคาร์บอน/คน/ปี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคนไทยที่ 5.3-5.5 ตันคาร์บอน/คน/ปี

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กล่าวถึงที่มาของการจัดงานในครั้งนี้ว่า ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาสำคัญ ที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินขีดความสามารถ จนธรรมชาติไม่อาจปรับสมดุลเองได้ ปัญหาดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นในยุคอุตสาหกรรมและทวีความรุนแรงขึ้น จากความเข้าใจผิดของมนุษย์ว่า ตนเองเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ใดสามารถนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ได้มากที่สุดคือ ผู้ฉลาดซึ่งความคิดเช่นนั้น เป็นความฉลาดแบบเอาแต่ประโยชน์ ทว่าเกิดโทษแบบได้ไม่คุ้มเสีย ด้วยความจริงที่ว่า โลกนี้ไม่ใช่ โลกมนุษย์แต่เป็น โลกของสิ่งมีชีวิตที่ต้องอยู่ด้วยกันและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ด้วยระยะเวลาการดำรงอยู่ของช่วงชีวิตอันสั้นของเราเมื่อเทียบกับอายุของโลก เพียงร้อยกว่าปีตั้งแต่ยุคเริ่มต้นอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบัน เราได้ใช้ทรัพยากรในอนาคตที่เป็นของรุ่นลูกรุ่นหลานไปล่วงหน้าหมดสิ้นแล้ว คำถามคือ เรามีสิทธินั้นหรือไม่ และเราจะทำอะไรกับสถานการณ์นี้ได้บ้าง
ดังนั้น มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ร่วมมือกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีภารกิจในการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการเกษตร เพื่อรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น พร้อมขยายผลการทำงานโดยการสร้างและพัฒนาเครือข่าย และนิตยสาร GREEN LIVING ซึ่งเป็นสื่อที่นำเสนอเนื้อหาทางด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด และมีแนวทางในการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน ร่วมกันจัดงาน  เทิด ด้วย ทำขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างจิตสำนึก และผลักดันสู่การลงมือทำ โดยการจัดงานครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ เป็นหลัก ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่บริโภคทรัพยากรมากที่สุดของประเทศ ด้วยอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เฉลี่ย 7.1 ตันคาร์บอน/คน/ปี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคนไทยที่ 5.3-5.5 ตันคาร์บอน/คน/ปี

สำหรับงาน เทิดด้วย ทำจัดทำขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า หมื่นรู้ ไม่สู้หนึ่งทำทำอย่างเข้าใจ เพียงเท่านี้เราก็สามารถมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ โดยรูปแบบของงานเป็นการนำเสนอแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจที่นำไปสู่การลงมือทำ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทยและกรุงเทพฯ พร้อมเสนอแนวทางให้ปัจเจกบุคคลสามารถเลือกใช้ชีวิตในแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบที่ลงมือทำได้ง่าย ผ่านสื่อที่สนุกสนาน ผู้เข้าชมสามารถมีส่วนร่วมได้ พร้อมตัวผลงานที่เกิดจากแนวพระราชดำริและตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำชุมชนที่ประสบความสำหรับในการลงมือทำอย่างเข้าใจ โดยน้อมนำพระราชดำริและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการพัฒนา อันเป็นแนวทางที่ช่วยในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน


.





ด้าน นส.วริตา สินธุยนต์ บรรณาธิการอำนวยการ นิตยสาร GREEN LIVING เปิดเผยถึงการร่วมจัดงานในครั้งนี้ว่า จากการทำงานของหนังสือ GREEN LIVING ซึ่งมีแนวทางของหนังสือมุ่งเน้นไปที่การลงมือทำในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบของแต่ละบุคคล โดยเริ่มต้นเพียงรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมานิตยสาร GREEN LIVING มีทำกิจกรรมเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนลงมือทำอยู่แล้ว เช่น โครงการป่ากลับมา ปลากลับบ้าน โครงการเสื้อ ยืดโลก โครงการเรียนรู้ ดูเป็น ซึ่งโครงการนี้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน โดยให้ครูและผู้ปกครองมีส่วนร่วมด้วย โดยที่ประชาชนทั่วไปก็มีส่วนร่วมได้ ทางนิตยสารมีความยินดีอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ โดยกิจกรรมที่จะนำไปเผยแพร่ในการจัดงาน จะมีหลายกิจกรรมด้วยกัน ได้แก่ DIY ของใช้ภายในบ้าน การแปลงโฉมขยะและเสื้อผ้า รวมไปถึงกิจกรรมที่ทำให้คุณสามารถลดค่าใช้จ่ายแบะดูแลสุขภาพไปพร้อมๆ อย่างการทำลูกประคบ การทำโฮมสปา ซึ่งสอดคล้องกับแนวเศรษฐกิจพอเพียงในแง่ที่ว่า เราต้องพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด ลดการพึ่งพาภายนอก หากเราดูแลตัวเองดีดี เราก็ป่วยน้อย และยังสามารถดูแลตนเองในเบื้องต้นได้ ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณของประเทศไปได้ด้วยอีกทางหนึ่ง เราซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนผู้เข้าร่วมชมงานจะได้รับแรงบันดาลใจ และนำไปลงมือทำในวิถีที่สอดคล้องกับตนเอง ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นต่อไป