วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยทราย จังหวัดเชียงใหม่

บริหารจัดการน้ำ ตามแนวพระราชดำริ เพิ่มอาชีพ ผลผลิต และรายได้
ถ่ายทอดความสำเร็จผ่านพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ
กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยทราย จังหวัดเชียงใหม่

วันนี้ (วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน 2557) นายรอยล  จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยทราย” ณ ชุมชนห้วยทราย ตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ร่วมงาน
บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เริ่มจากวางท่อส่งน้ำเข้าพื้นที่เกษตร ด้วยงบประมาณส่วนตัว รวมกลุ่มคณะกรรมการบริหารน้ำ กระจายน้ำให้ทั่วถึง เหมาะสมตามฤดูกาล รอบเวร และขนาดพื้นที่ ร่วมกันสร้างฝายต้นน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน และเพิ่มแหล่งสำรองน้ำในพื้นที่เกษตร สามารถเพิ่มพื้นที่ใช้ประโยชน์จาก 400 ไร่ เป็น 2,145 ไร่ เพิ่มรายได้ปีละประมาณ 40,000 บาทต่อครัวเรือน






ปี พ.ศ.2512 เริ่มตั้งถิ่นฐานบนที่ดินสหกรณ์นิคมพร้าว รวม 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านทรายทอง บ้านขวัญประชา บ้านไชยมงคล และบ้านสหกรณ์แปลง 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยทราย โดยแบ่งสิทธิพื้นที่ทำกินให้ครอบครัวละ 20 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินสูงต่ำลูกระนาด ดินดอน และแห้งแล้ง มีลำห้วยทรายเป็นแหล่งน้ำหลัก ขาดแคลนน้ำใช้ทำเกษตรในพื้นที่ ต่อมาในปี พ.ศ.2530 ชุมชนจึงร่วมกันถวายฎีกาขอพระราชทานอ่างเก็บน้ำ 

 



ปี พ.ศ.2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริ ให้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ความจุอ่างเก็บน้ำ 225,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีปริมาณน้ำสำหรับพื้นที่เกษตร 400 ไร่ แต่ยังขาดการจัดการ ทำให้น้ำในอ่างใช้ได้เฉพาะอุปโภคและบริโภค ไม่สามารถใช้ทำการเกษตรได้

  


ปี พ.ศ.2543 เริ่มสร้างระบบการใช้น้ำชลประทานผ่านท่อส่งน้ำ โดยต่อท่อขนาด 2 นิ้ว จากประตูอ่างเก็บน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรได้โดยตรงและทั่วถึง แทนระบบลำเหมืองแบบเดิม ช่วยลดการสูญเสียปริมาณน้ำระหว่างทาง สามารถจัดสรรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคณะกรรมการกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยทราย และตัวแทนสายส่งน้ำทั้ง 20 สาย ร่วมกันดูแลและจัดสรรน้ำอย่างทั่วถึง ตามรอบเวรการใช้น้ำที่เหมาะสมกับฤดูกาลและสภาพพื้นที่ จำนวน 20 สาย ระยะทางกว่า 37.72 กิโลเมตร มีสมาชิก 224 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกว่า 2,145 ไร่ และขยายสู่ชุมชนใกล้เคียง โดยส่งน้ำผ่านท่อส่งน้ำ เพิ่ม 2 สาย เชื่อมกับระบบประปาของชุมชนบ้านทรายทอง ระยะทางกว่า 3.40 กิโลเมตร สมาชิก 220 ครัวเรือน ชุมชนบ้านไชยมงคล ระยะทางกว่า 3.78 กิโลเมตร สมาชิก 120 ครัวเรือน

  

 

 

ปี พ.ศ.2552 เริ่มดำเนินงานจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำรวจและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพิ่มน้ำต้นทุนและแหล่งสำรองน้ำ ปี พ.ศ.2556 ขยายแนวคิดการจัดการน้ำและพัฒนาอาชีพสู่ชุมชนใกล้เคียง ขยายแนวคิดสู่การบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยลึก สามารถกระจายน้ำเพื่ออุปโภคของบ้านสหกรณ์แปลง 2 และบ้านขวัญประชา รวม 220 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เกษตร 1,300 ไร่ นอกจากนี้ ได้ดำเนินงานทฤษฎีใหม่ เกิดภูมิคุ้มกันด้านอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชน ได้แก่ กลุ่มนาโยน สามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน ปีละ 40,000 – 50,000 กลุ่มเพาะเห็ดอินทรีย์ สามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนปีละ 40,000 บาท และกลุ่มเกษตรผสมผสานอินทรีย์ เพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน ปีละ 20,000 บาท และลดรายจ่ายในครัวเรือน ปีละ 9,600 บาท
การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยทราย จังหวัดเชียงใหม่เป็นตัวอย่างความสำเร็จ ให้กับชุมชนอื่นได้ศึกษาเรียนรู้ จึงเกิดเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป