พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม
จากที่ดินพระราชทาน สู่การจัดการตามแนวพระราชดำริ
จากที่ดินพระราชทาน สู่การจัดการตามแนวพระราชดำริ
มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชน ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ กรอบคิด กรอบงาน มาพัฒนาการจัดการน้ำชุมชนจนประสบผลสำเร็จ สามารถเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นมาศึกษาเรียนรู้ได้ โดยใช้พื้นที่จริงของชุมชน อธิบายผ่านแผนที่และภาพความเปลี่ยนแปลง ให้เข้าใจง่าย และสามารถนำไปปรับใช้ได้
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม ตั้งอยู่ที่ชุมชนบ้านศาลาดิน ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม แต่เดิมชุมชนบ้านศาลาดินมีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียวปีละครั้ง เป็นสาเหตุให้เกษตรกรยากจน ขาดที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบถึงปัญหา จึงได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ให้กับเกษตรกร จำนวน ๑,๐๐๙ ไร่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยมีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเป็นผู้ดูแลและจัดรูปที่ดินให้เกษตรกรแปลงละ ๒๐ ไร่ เริ่มเข้าทำกินได้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ชุมชนบ้านศาลาดินได้น้อมนำแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรผสมผสานตามลักษณะภูมิสังคม สามารถสร้างรายได้ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก
ชุมชนบ้านศาลาดิน เคยประสบปัญหาน้ำเน่าเสียจากสารเคมี การทิ้งขยะและน้ำเสียจากครัวเรือนสู่ลำคลอง และยังมีปัญหาน้ำท่วมที่มีระยะเวลานานขึ้น เนื่องจากลำคลองตื้นเขินและตัน ทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลง ชาวบ้านได้ร่วมกันปรับปรุงคุณภาพน้ำและเฝ้าระวังปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ติดตั้งถังดักไขมันครัวเรือน ใช้จุลินทรีย์และอีเอ็มบอลปรับสภาพน้ำ และพัฒนากังหันเติมอากาศในน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ ได้ร่วมกับชุมชนขยายผลการบริหารจัดการน้ำให้ทั่วทั้งตำบล โดยดำเนินการขุดลอกคลองในตำบลมหาสวัสดิ์ทุกคลอง เพื่อให้น้ำในระบบไหลเวียน และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการและระบายน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้ดียิ่งขึ้น ผลจากการดำเนินงาน ทำให้ปัจจุบันเรือสามารถสัญจรได้ตลอดทุกคลองในตำบลมหาสวัสดิ์ และชาวบ้านสามารถนำน้ำไปใช้ในการอุปโภคและการเกษตรได้อย่างสะดวก หมดปัญหาเรื่องผักตบชวาและน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ระบบนิเวศในลำคลองต่างๆ ดีขึ้น อีกทั้งลำคลองและภาพรวมของชุมชนมีความเรียบร้อยสวยงาม