วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ร่วมมือกองทัพบก และศูนย์พัฒนาและบริหารจัดการกว๊านพะเยา เปิดปฏิบัติการพัฒนากว๊านพะเยา และสรุปความคืบหน้างานพัฒนาลุ่มน้ำยม ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง อย่างยั่งยืนร่วมกับเครือข่ายลุ่มน้ำยม

กว๊านพะเยาประสบปัญหาตื้นเขินจากการทับถมของตะกอน คุณภาพน้ำลดต่ำลง อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม มีการบุกรุกลำน้ำสาขาและกว๊านพะเยาปัญหาข้อพิพาทเรื่องแนวเขตกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา พร้อมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้เสนอโครงการพัฒนากว๊านพะเยาเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้รับโครงการกว๊านพะเยา ในส่วนของด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรแหล่งน้ำ เป็นโครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริโดยให้มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นหน่วยงานหลักในการประสานจัดทำแผนพัฒนาและเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนา









วันที่ 10 กรกฎาคม 2557 นี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแผนพัฒนากว๊านพะเยา โดยมี ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีสืบชะตากว๊านพะเยา และติดตามผลการดำเนินงานปรับปรุงพัฒนากว๊านพะเยา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา พร้อมกันนี้ได้ร่วมเปิดปฏิบัติการกว๊านพะเยา โดยมี พลตรีพันธ์ศักดิ์ จันทร์ด้ง รองแม่ทัพภาคที่ 3 ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธานร่วม เพื่อเปิดปฏิบัติการกว๊านพะเยา และร่วมประชุมสรุปความคืบหน้างานพัฒนาลุ่มน้ำยม ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง อย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมเข้าร่วมประชุม


ปฏิบัติการพัฒนากว๊านพะเยา เป็นการดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรอบกว๊านพะเยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ซึ่งได้ร่วมกันก่อตั้ง ศูนย์พัฒนาและบริหารจัดการกว๊านพะเยา (ศพบก.) เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการกว๊านพะเยา ตั้งแต่พื้นที่ป่าต้นน้ำของกว๊านพะเยา ลำน้ำสาขาที่ไหลสู่กว๊านพะเยา บริเวณกว๊านพะเยา และคุณภาพน้ำ โดยมีมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ให้คำปรึกษาในการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนากว๊านพะเยา ครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2561 โดยมีกองทัพบกและหน่วยพัฒนาการทหารเคลื่อนที่ 35 จังหวัดเชียงราย สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการกว๊านพะเยา ในการขุดลอกฟื้นฟูร่องน้ำที่ไหลเข้าสู่กว๊านพะเยา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำ ระบายน้ำ และดักตะกอน ก่อนไหลลงสู่กว๊านพะเยา โดยเฉพาะพื้นที่หนองเล็งทราย ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำอิงที่ไหลลงสู่กว๊านพะเยา รวมทั้งได้ร่วมกันกำหนดแนวเขตพื้นที่รอบกว๊านป้องกันการบุกรุก พร้อมทั้งมีแผนดำเนินงานฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ด้วยการปลูกป่าเสริม จัดทำกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ โดยมีแนวคิดเรื่อง “กองทุนพันธุ์ไม้พื้นบ้าน” ดำเนินงานด้านฟื้นฟูและดูแลรักษาป่าต้นน้ำสร้างความยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำต่อไป 



สำหรับความร่วมมือในการพัฒนาลุ่มน้ำทั้งระบบ มีจุดเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของชุมชนและท้องถิ่น เพื่อร่วมกันหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาของพื้นที่ลุ่มน้ำยม ภายหลังจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 โดยร่วมกันตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง และได้เชิญ ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล เป็นประธานในการประชุมหารือแนวทางพัฒนาลุ่มน้ำยม ร่วมกับเครือข่ายลุ่มน้ำยมกว่า 200 คน ซึ่งมีการประชุมร่วมกันรวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง ผลจากการประชุมหารือแนวทางพัฒนาลุ่มน้ำยม ได้รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สรุปเป็นแนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำยมทั้งระบบเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยทุกฝ่ายตกลงร่วมกันพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำยมทั้งตอนบน ตอนกลาง ตอนล่าง ด้วยการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติเดิมเพื่อเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำ ฟื้นคลองสาขาและแม่น้ำยมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบาย และร่วมกันฟื้นฟูดูแลทรัพยากรธรรมชาติป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมให้ฟื้นกลับคืนเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและชะลอน้ำไปพร้อมกัน




การพัฒนาลุ่มน้ำยม ได้รับความร่วมมือจากกองทัพบก ในการฟื้นฟูแหล่งน้ำ พัฒนาโครงสร้างน้ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำ สำรองน้ำ บรรเทาปัญหาอุทกภัย และภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยม โดยมีมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสนก. เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันได้ดำเนินงานไปแล้ว รวม 18 พื้นที่ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก เพิ่มปริมาตรการเก็บกักได้ประมาณ 2,429,000 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ประมาณ 108,500 ไร่ และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้ประมาณ 16,700 ครัวเรือน และมีแผนดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดใหญ่ให้สามารถทำหน้าที่แก้มลิงได้อย่างสมบูรณ์ อาทิ บึงสีไฟ บึงบอระเพ็ด