วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เผยแพร่แนวคิด กิจกรรม เทิด ด้วย ทำ เรียนรู้สู่การลงมือทำ ตามแนวพระราชดำริ

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2559 มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สถาบันบางกอกแดนซ์ สาขารัตนาธิเบศร์ ร่วมเผยแพร่แนวคิด กิจกรรม เทิด ด้วย ทำ เรียนรู้สู่การลงมือทำ ตามแนวพระราชดำริ โดยมีผู้แทนเครือข่ายเยาวชนพี่นำน้องรักษ์น้ำตามแนวพระราชดำริ ปี 2557 และ ปี 2558 ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ให้เกิดผลสำเร็จ ด้วยการปฏิบัติจริง ณ เซ็นทรัลพลาซา สาขารัตนาธิเบศร์







วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ พร้อมคณะผู้บริหาร SCG ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ ปี 2558 ตำบลท่านางแนว อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น



มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ พร้อมคณะผู้บริหาร SCG ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลสำเร็จของโครงการปี 2558
     วันที่ 17 ก.พ. 59 ดร. รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ เดินทางไปยังชุมชนโนนเขวา ตำบลท่านางแนว อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น เพื่อเยี่ยมชมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ในการพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำ การเชื่อมโยงแหล่งน้ำด้วยคลองซอย รวมไปถึงการทำแปลงเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่บริเวณริมสระ



วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เทิด ด้วย ทำ 14 กุมภาพันธ์ 2559

เทิด ด้วย ทำ 14 กุมภาพันธ์ 2559
          ผ่านไปแล้วกับกิจกรรม "เทิด ด้วย ทำ" เรียนรู้สู่การลงมือทำตามแนวพระราชดำริ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งมาครบรอบ 4 ปี ได้ประกาศสัตยาบรรณ ร่วมกัน “เทิด ด้วย ทำ” กับ หน่วยงานทั้งภาครัฐภาคเอกชน และประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก จะร่วมกัน ลงมือทำตามแนวพระราชดำริ ในการฟื้นฟู ดูแล รักษา ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อม

          มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินทุนจัดตั้ง พระราชทานชื่อมูลนิธิ และทรงรับเป็นมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อนำแนวพระราชดำริในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบพึ่งตนเอง นำหลักการทรงงาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ไปเผยแพร่ให้ชุมชนต่างๆ เข้าใจหลักการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เน้นการพัฒนาจากล่างขึ้นมาข้างบน จากชุมชนเล็กๆ ขยายสู่ระดับตำบลและอำเภอ โดยถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และความสำเร็จของชุมชนต่างๆ ผ่านพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ขยายผลความสำเร็จออกสู่สาธารณะเพื่อเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ 




          ในช่วงเวลาเพียง 3 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2555 จนถึงปี พ.ศ. 2558 มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้ดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ผ่าน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ” รวม 10 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้สนใจได้เรียนรู้จากพื้นที่จริง และดำเนินงานพัฒนา ฟื้นฟู ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ร่วมกับ 60 ชุมชนแกนนำ ในพื้นที่ 19 ลุ่มน้ำ ขยายผลสู่ 543 หมู่บ้าน สามารถบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ได้ 364,600 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร 1.60 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำสำรองเพิ่มขึ้นสำหรับใช้ยามฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้ง รวม 54.16 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากภัยแล้งช่วงปี 2557-2558 ชุมชนแกนนำที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 24 ชุมชน ยังคงมีน้ำสำหรับใช้ทำการเกษตร สร้างรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร กว่า 1,300 ล้านบาท

เทิด ด้วย ทำ เรา ทำ ได้
          มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์และหน่วยงานริเริ่มดำเนินงาน ได้ร่วมกัน เทิด ด้วย ทำ เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการขยายผล เกิดตัวอย่างความสำเร็จของการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนและเยาวชน เกิดความรู้ ความเข้าใจ นำแนวพระราชดำริไปปรับใช้จริง เกิดเยาวชน เทิด ด้วย ทำ ที่มีจิตอาสา เรียนรู้แนวพระราชดำริ พร้อมปฏิบัติจริง มาร่วมกันดำเนินงานฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อมร่วมกันระหว่างภาครัฐ ประชาชน และเอกชน อย่างต่อเนื่อง
          โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาด้านน้ำและสิ่งแวดล้อมมายาวนาน จากเดิมที่ คู คลองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนทั้งสิ้น 1,682 คลอง ความยาวรวมประมาณ 2,604 กิโลเมตร ปัจจุบัน ความสำคัญของคลองลดลง ไม่ได้รับการดูแลรักษา ตื้นเขิน คับแคบ น้ำสกปรกเน่าเสีย รวมทั้งถูกถมเพื่อขยายถนน ซึ่งมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีตัวอย่างความสำเร็จ ที่ประชาชนและเยาวชน เริ่มดำเนินงานฟื้นฟูคลองต่างๆ ของฝั่งตะวันตกด้วยตนเอง เริ่มจากคลองมหาสวัสดิ์ ที่บ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม เชื่อมต่อคลองทวีวัฒนา มาถึง คลองลัดมะยม ที่เขตตลิ่งชัน ดำเนินงานต่อเนื่องสู่คลองบางหลวง และคลองบางจาก เป็นตัวอย่างความสำเร็จ เป็นจุดเริ่มต้นให้ประชาชนและเยาวชน สามารถลงมือทำเพื่อบ้านและชุมชนต่อไป

          เป็นเวลาเกือบ 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ให้ แก่พสนิกรชาวไทยและประเทศไทย ตลอดมา นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ ถึงเวลาแล้วที่เราคนไทย จะมาร่วมกัน ลงมือทำตามแนวพระราชดำริ ร่วมกัน รักและรักษา สังคม ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อมของประเทศ เปลี่ยนจากผู้รับ เป็นผู้ให้ เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สืบสานแนวพระราชดำริ ให้ประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง ประชาชนชาวไทยอยู่ดีกินดี และ รู้ รัก สามัคคี กันถ้วนหน้า
อย่าให้รักพ่อ เป็นแค่ความคิด รวมพลัง รักพ่อ มาร่วมลงมือทำกับเรา “เทิด ด้วย ทำ”