วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านปากซวด ตำบลพะแสง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ  
บ้านปากซวด ตำบลพะแสง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ บ้านปากซวด ตำบลพะแสง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยมีคณะผู้บริหารและข้าราชการ ทั้งจากส่วนราชการในจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่
มาร่วมงาน

มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริบ้านปากซวด เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชน ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กรอบคิด กรอบงาน มาพัฒนาการจัดการน้ำชุมชนจนประสบผลสำเร็จ เป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้ โดยใช้พื้นที่จริงของชุมชน อธิบายผ่านแผนที่และภาพความเปลี่ยนแปลง ให้เข้าใจง่าย และสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม

ชุมชนบ้านปากซวด ตั้งถิ่นฐานบริเวณเขาตอเต่า ตำบลพะแสง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มานานกว่า 200 ปี มีอาชีพทำการเกษตรและเก็บหาของป่าเป็นหลัก ในปี พ.ศ.2523 มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาสก และก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา ทำให้น้ำเปลี่ยนเส้นทาง และชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุกป่า ต่อมาเริ่มทำเกษตรเชิงเดี่ยว จึงเกิดปัญหากับอุทยานฯ เรื่องที่ดินทำกินทับซ้อนในพื้นที่ป่า ปี พ.ศ. 2554-2557 ชุมชนและอุทยานฯ จึงร่วมกันแก้ไขปัญหา พัฒนาแนวคิดการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยกำหนดขอบเขตป่าอนุรักษ์และขอบเขตที่ดินทำกินร่วมกัน ต่อมาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามาสนับสนุนให้ข้อมูล ความรู้ รวมทั้งถ่ายทอดการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แก่ชุมชน และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกับชุมชนดำเนินงานจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เริ่มสำรวจและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เก็บข้อมูล จัดทำแผนที่ และขยายผลออกไปยังชุมชนใกล้เคียง

ปัจจุบัน ชุมชนและอุทยานฯ ร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำกว่า 5,000 ไร่ กำหนดขอบเขตป่าอนุรักษ์ ปลูกเสริมป่าด้วยไม้ท้องถิ่น จนเป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เสริมโครงสร้างฝายกักเก็บน้ำ พร้อมขุดสระหนองกก พื้นที่ 9 ไร่ ช่วยชะลอความแรงของน้ำ เป็นแหล่งสำรองน้ำได้ 268,403 ลบ.ม. ลดปัญหาน้ำท่วม บรรเทาปัญหาน้ำแล้ง เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อผลิตน้ำประปาและน้ำดื่ม ปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตร ทำกินในพื้นที่ของตนเองร่วมกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ เพิ่มรายได้ให้ชุมชน 28,500 บาท/ครัวเรือน/ปี เกิดกลุ่มตัวอย่างปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และกองทุนปาล์มน้ำมัน กองทุนหมูหลุมและไก่ กองทุนปุ๋ย และกองทุนน้ำดื่ม บริหารจัดการโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน สร้างสวัสดิการ (สุขภาพ การศึกษา อาชีพ) ลดการพึ่งพาหน่วยงานท้องถิ่น มีเงินหมุนเวียนและเงินเก็บภายในชุมชนกว่า 2 ล้านบาท นำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืน เป็นตัวอย่างความสำเร็จให้ชุมชนอื่นได้ศึกษาเรียนรู้ จึงจัดเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป


วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559

มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ร่วมมือ กรมอุทยานฯ ขยายผลเครือข่ายจัดการดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ

มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ร่วมมือ กรมอุทยานฯ ขยายผลเครือข่ายจัดการดิน น้ำ ป่า 
ตามแนวพระราชดำริ
วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๙ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาและขยายผลเครือข่ายการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิชัยพัฒนา

ดร.สุเมธฯ กล่าวว่า จากภารกิจที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้พัฒนาเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จนถึงปัจจุบัน พบตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ในระดับชุมชนจำนวนมาก แต่ละชุมชนมีความรู้และประสบการณ์ที่เป็นแบบอย่างความสำเร็จจากการน้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมตามสภาพภูมิสังคม มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ จึงร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนและพัฒนาให้ชุมชนมีศักยภาพในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ที่มั่นคงเพิ่มมากขึ้น บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง การลงมือทำอย่างมีส่วนร่วม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นเครือข่าย และพร้อมที่จะพัฒนาขยายผลอย่างต่อเนื่อง ในการฟื้นฟู อนุรักษ์ และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ

ความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ และพัฒนาขยายผลการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ด้านการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า โดยมีแนวทางดำเนินงานร่วมกันใน ๓ แนวทางคือ ๑.จัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อย่างมีส่วนร่วม เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาชน มีกระบวนการตั้งแต่ สำรวจขอบเขตทรัพยากรดิน น้ำ ป่า จัดทำข้อมูลและแผนที่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าฟื้นฟู ป่าเศรษฐกิจ และป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ๒.พัฒนาแนวหรือพื้นที่กันชน ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า เช่น ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ป่าเปียก ขุดคลองรอบ ฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ด้วยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น สร้างฝายกักเก็บและดักตะกอน เพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ เพิ่มแนวกันไฟป่าเปียก ปลูกไม้ท้องถิ่นโตเร็ว และสร้างแนวกันชน เพื่อป้องกันปัญหาการรุกป่า ๓.พัฒนาให้เหมาะสมตามภูมิสังคม บนพื้นฐานของการ พึ่งตนเอง ลงมือทำอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสร้างตัวอย่างความสำเร็จ เพิ่มพื้นที่วนเกษตร มีกองทุนและเรือนเพาะกล้าพันธุ์ไม้ท้องถิ่น เกิดกลุ่มบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า มีกฏ กติกา วิธีจัดการ แผนงานที่ชัดเจน และขยายผลสำเร็จ
ด้าน นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน ในการพัฒนาและขยายผลเครือข่ายการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ เป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริ สู่การขยายแนวคิดเชิงปฏิบัติ และลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้เกิดตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินงานร่วมกัน สามารถขยายผลไปสู่เครือข่ายชุมชน เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระหว่างชุมชน เครือข่าย หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน เพื่อใช้เป็นตัวอย่างขยายผลสำเร็จให้เกิดเครือข่ายการพัฒนาการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ อย่างยั่งยืนได้ในที่สุด

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กิจกรรมพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ประจำปี พ.ศ. 2559

กิจกรรมพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ประจำปี พ.ศ. 2559

กิจกรรมพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ประจำปี พ.ศ. 2559 ระหว่างวันที่ 10 - 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 ณ เขื่อภูมิพล จังหวัดตาก "เรียนรู้แนวพระราชดำริ ดิน น้ำ ป่า จากการปฏิบัติจริง และสามารถนำความรู้ไปสู่การประยุกต์ใช้ และพัฒนาขยายผลโครงการน้ำของกลุ่มเยาวชนต่อไป"















ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระราชูปถัมภ์


วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ติดตามความก้าวหน้าการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ดำเนินงานร่วมกับกองทัพบก ในพื้นที่ ต.ป่าพะยอม อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง

วันที่ 27 ก.ค. 58 ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ติดตามความก้าวหน้าการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ดำเนินงานร่วมกับกองทัพบก ในพื้นที่ ต.ป่าพะยอม อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง






ชุมชนป่าพะยอม เครือข่ายจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ใช้ข้อมูล ความรู้ และร่วมวางแผนพัฒนาโครงสร้างน้ำ บริหารจัดการจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ อ.ป่าพะยอม ทำให้ชุมชนมีความสุขและภูมิใจที่สามารถจัดการน้ำด้วยตัวเองได้







วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ของกลุ่มเยาวชนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต้อนรับพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะ และพาลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ของกลุ่มเยาวชนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดพี่นำน้องรักษ์น้ำตามแนวพระราชดำริ พ.ศ. 2558 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ
 

เมื่อปี 2554 กรุงเทพฯ เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ประชาชนประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำขังจนเน่าเสีย เป็นจุดเริ่มต้นให้กลุ่มเยาวชนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Eco Students) โดย โรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์ ร่วมกับชุมชน 4 แห่งในพื้นที่คือ ชุมชนศาลาลอย ชุมชนคลองมะขามเทศ ชุมชนบึงหนองบอน ชุมชนหมู่บ้านเสรี สำนักงานเขตประเวศ และ บริษัทริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งในโรงเรียน ชุมชน หน่วยงานราชการ และเอกชน

กลุ่มเยาวชนฯ ใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน โดยมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ภายใต้การประกวดพี่นำน้องรักษ์น้ำตามแนวพระราชดำริ ได้เข้าไปสนับสนุนความรู้ในการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เช่น การบำบัดน้ำเสียโดยใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ การทำถังดักไขมันในครัวเรือน และเชื่อมโครงข่ายน้ำ วิเคราะห์และเริ่มดำเนินงานแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ จนเกิดผลสำเร็จในโรงเรียน และขยายผลไปสู่ชุมชน จากผลสำเร็จดังกล่าว ทำให้กลุ่มเยาวชนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์ ได้รางวัลชนะเลิศการประกวดพี่นำน้องรักษ์น้ำตามแนวพระราชดำริ พ.ศ. 2558 และจะได้รับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

และในปี 2559 นี้ กลุ่มเยาวชนโรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์ จะขยายผลดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ไปยังคลองสาธารณะบริเวณหมู่บ้านเสรี คลองมะขามเทศ คลองศาลาลอย รวมทั้งบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือน ก่อนไหลลงสู่บึงหนองบอน พื้นที่โครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ อีกด้วย
โอกาสนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ประกอบด้วย
- คลองอีแว คลองขุดความยาว 500 เมตร เรียนรู้วิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน ปรับสภาพดินเปรี้ยวจนสามารถปลูกพืชผสมผสานได้ พื้นที่ทดลองบำบัดน้ำเสียด้วยวิธี "ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ" เช่น ผักตบชวา จอกหูหนู เครื่องเติมอากาศ ก่อนปล่อยลงคลองมะขามเทศ

- คลองศาลาลอย-มัสยิดอ้ามาน่าตุ้ลอิสลาม พื้นที่ขยายผลบำบัดน้ำเสีย ฟื้นฟูคลอง ติดตั้งถังดักไขมันในครัวเรือน และจุลินทรีย์น้ำหยด

- แก้มลิงตามแนวพระราชดำริ บึงหนองบอน ติดตามสถานการณ์น้ำและคุณภาพน้ำในพื้นที่แก้มลิง รวมถึงการบริหารประตูรับน้ำเข้าและระบายน้ำออก






วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

Thailand Sustainable Water Management Forum 2016

Thailand Sustainable Water Management Forum 2016

วันที่ 20 มิถุนายน 2559 มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับเอสซีจี และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงาน “Thailand Sustainable Water Management Forum 2016” ประสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ส่งเสริมการเรียนรู้และความจำเป็นของการบริหารจัดการน้ำ สู่หนทางป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างยั่งยืน


นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการน้ำ และการบริหารงานขององค์กรด้านน้ำจาก 3 ประเทศ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมที่ดี ได้แก่ ประเทศอิสราเอล กับการสร้างวัฒนธรรม ที่แข็งแกร่งให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อสำรองน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการทำเกษตรกรรมให้มีมากเพียงพอ ประเทศสิงคโปร์ กับนโยบาย “น้ำคือความมั่นคงของประเทศ” พร้อมมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด และประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมจากข้อจำกัดเรื่องสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ราบลุ่มด้วยการสูบน้ำอย่างเป็นระบบ และการสร้างสมดุลระหว่างน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำใต้ดินได้อย่างลงตัว เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว

ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมที่ต้องอาศัยพึ่งพาน้ำเป็นต้นทุนที่สำคัญ ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ คือ เรามีปริมาณน้ำจากฟ้าจำนวนมาก แต่เก็บไว้ใช้ได้ในปริมาณที่น้อย โดยประเทศไทยของเรามีที่เก็บกักน้ำขนาดใหญ่ 70,400 ล้าน ลบ.ม. แต่ทั้งปีน้ำไหลลงเขื่อนเฉลี่ย 42,000 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำต่อปี มากกว่า 100,000 ล้าน ลบ.ม. และในอนาคต 10 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มว่าความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 35 ความสำคัญจึงอยู่ที่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำฝน ปริมาณการกักเก็บน้ำ และปริมาณการใช้น้ำให้เกิดความสมดุลให้ได้

การสร้างความสมดุลของทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “น้ำคือชีวิต” และการบริหารจัดการน้ำ “จากภูผาสู่นที” คือต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำที่เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องของการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การพัฒนารูปแบบป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การจัดการน้ำแล้งและน้ำหลากนอกเขตชลประทาน และอีกหลายแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงทำเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นต้นแบบสู่การนำไปใช้ในชุมชนได้จนประสบความสำเร็จ วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้ร่วมกันออกแบบและนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องไปใช้อย่างจริงจัง สร้างสมดุลระหว่างน้ำต้นทุนและการใช้น้ำให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เพื่อตัวเรา ประเทศของเรา และลูกหลานของเราในอนาคต