วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

Thailand Sustainable Water Management Forum 2016

Thailand Sustainable Water Management Forum 2016

วันที่ 20 มิถุนายน 2559 มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับเอสซีจี และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงาน “Thailand Sustainable Water Management Forum 2016” ประสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ส่งเสริมการเรียนรู้และความจำเป็นของการบริหารจัดการน้ำ สู่หนทางป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างยั่งยืน


นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการน้ำ และการบริหารงานขององค์กรด้านน้ำจาก 3 ประเทศ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมที่ดี ได้แก่ ประเทศอิสราเอล กับการสร้างวัฒนธรรม ที่แข็งแกร่งให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อสำรองน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการทำเกษตรกรรมให้มีมากเพียงพอ ประเทศสิงคโปร์ กับนโยบาย “น้ำคือความมั่นคงของประเทศ” พร้อมมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด และประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมจากข้อจำกัดเรื่องสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ราบลุ่มด้วยการสูบน้ำอย่างเป็นระบบ และการสร้างสมดุลระหว่างน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำใต้ดินได้อย่างลงตัว เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว

ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมที่ต้องอาศัยพึ่งพาน้ำเป็นต้นทุนที่สำคัญ ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ คือ เรามีปริมาณน้ำจากฟ้าจำนวนมาก แต่เก็บไว้ใช้ได้ในปริมาณที่น้อย โดยประเทศไทยของเรามีที่เก็บกักน้ำขนาดใหญ่ 70,400 ล้าน ลบ.ม. แต่ทั้งปีน้ำไหลลงเขื่อนเฉลี่ย 42,000 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำต่อปี มากกว่า 100,000 ล้าน ลบ.ม. และในอนาคต 10 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มว่าความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 35 ความสำคัญจึงอยู่ที่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำฝน ปริมาณการกักเก็บน้ำ และปริมาณการใช้น้ำให้เกิดความสมดุลให้ได้

การสร้างความสมดุลของทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “น้ำคือชีวิต” และการบริหารจัดการน้ำ “จากภูผาสู่นที” คือต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำที่เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องของการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การพัฒนารูปแบบป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การจัดการน้ำแล้งและน้ำหลากนอกเขตชลประทาน และอีกหลายแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงทำเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นต้นแบบสู่การนำไปใช้ในชุมชนได้จนประสบความสำเร็จ วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้ร่วมกันออกแบบและนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องไปใช้อย่างจริงจัง สร้างสมดุลระหว่างน้ำต้นทุนและการใช้น้ำให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เพื่อตัวเรา ประเทศของเรา และลูกหลานของเราในอนาคต







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น