วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2558 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์



     วันนี้ (24 มีนาคม 2558) เวลา 10 นาฬิกา สมเด็จพระเทพรัตราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปี พ.ศ.2558 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีนายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ และผู้เกี่ยวข้อง เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ


     โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นำผู้มีจิตศรัทธาบริจาค และผู้สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ จำนวน 55 คน เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานเข็มที่ระลึกของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ




     จากนั้น ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปี พ.ศ.2558 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์


     มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเงินทุนจัดตั้ง พระราชทานชื่อมูลนิธิ และทรงรับเป็นมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มาถ่ายทอด และสนับสนุนให้ชุมชนสามารถดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำ แบบพึ่งตนเอง น้อมนำหลักการทรงงาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ให้ชุมชนเข้าใจถึงหลักการบริหารจัดการน้ำ ตามแนวพระราชดำริ เน้นพัฒนาจากล่างขึ้นมาข้างบน มีตัวอย่างความสำเร็จจากชุมชนต่างๆ พร้อมให้ชุมชนเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ความสำเร็จ ระหว่างเพื่อนถึงเพื่อน ผ่านพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เพื่อขยายผลความสำเร็จออกไป 

     มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ทำงานร่วมกับชุมชนในลักษณะของเครือข่าย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และความสำเร็จเพื่อขยายผลไปยังชุมชนใกล้เคียง โดยมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เป็นคนกลางช่วยประสานและสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนเข้าใจตนเอง ร่วมกันแก้ไข พัฒนาและบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งน้ำ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนต่างๆ ร่วมกันพัฒนาน้ำ จากระดับชุมชน เป็นเครือข่าย และขยายไปสู่ระดับลุ่มน้ำ สามารถบรรเทาปัญหาน้ำของพื้นที่ และรวมกลุ่มตัวอย่างทำเกษตรได้ผลผลิตตลอดปี ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น 

ผลงานปี 2557
     ผลดำเนินงานที่สำคัญของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ในปี พ.ศ. 2557 ได้ดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่มีความสามารถเป็นชุมชนแกนนำ ขยายผลความสำเร็จ จำนวน 55 ชุมชน และ ชุมชนใน 6 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำอิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำปิง-วัง ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำปัตตานี ซึ่งสามารถสรุปผลการดำเนินงาน ดังนี้
     งาน “เข้าใจน้ำ”  ชุมชนเข้าใจตนเอง เข้าใจพื้นที่ นำแนวพระราชดำริ ไปปรับใช้ เกิดผลสำเร็จการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน สามารถเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตัวอย่างความสำเร็จ ของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ขยายผลจาก 55 ชุมชน และชุมชนใน 6 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง-วัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำอิง ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำปัตตานี เกิดเครือข่ายชุมชน 341 พื้นที่ เกิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ 7 พื้นที่
     งาน “พัฒนาแหล่งน้ำ” ร่วมกับกองทัพบก หน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาชน ให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ช่วยลดปัญหาอุทกภัย พ้นภัยแล้ง และเพิ่มปริมาณน้ำสำรอง มีผู้รับประโยชน์ 81,320 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร 486,750 ไร่ เกิดมูลค่าเพิ่มทางการเกษตรในฤดูแล้ง 1,190 ล้านบาทต่อปี และพื้นที่กักเก็บน้ำสำรองเพิ่มขึ้น 17.85 ล้านลูกบาศก์เมตร เช่น งานพัฒนาอ่างเก็บน้ำหนองกุดใหญ่ ต.หนองเต็ง อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ในปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ให้กรมชลประทานพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำในลำชีน้อย และโครงการฝายกั้นน้ำบึงกุดใหญ่ ตามแนวพระราชดำริ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้ร่วมกับภาคประชาชน สร้างความเข้าใจ ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของ หวงแหน ช่วยกันดูแล ร่วมกันคืนที่ดินที่เคยบุกรุกอ่างเก็บน้ำ จากที่เหลือ ประมาณ 200 ไร่ กลับคืนมาเป็นสาธารณะประโยชน์ รวม 777 ไร่  ได้รับประโยชน์ 2 ตำบล และจะขยายสู่ 5 ตำบล

แผนงานปี 2558
     แผนงานเด่น ปี 2558 มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ร่วมทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำปิง กับเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ฉบับประชาชน ดำเนินงานพัฒนาและขยายเครือข่ายการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และดำเนินงานพัฒนาต่อเนื่องร่วมกับกองทัพบก แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำที่กว๊านพะเยาทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงกว๊านพะเยา และบรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำทะลน้อย จ.พัทลุง





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น