วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ วังบัวแดง จังหวัดหนองคาย

 พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ วังบัวแดง จังหวัดหนองคาย


วันอังคารที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ดร.รอยล  จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ วังบัวแดง จังหวัดหนองคาย” เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของการจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย โดยมีนายวิรัตน์  ลิ้มสุวัฒน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ร่วมงาน


มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับจังหวัดหนองคาย และองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย เปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ วังบัวแดง จังหวัดหนองคาย เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชน ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ กรอบคิด กรอบงาน มาพัฒนาการจัดการน้ำชุมชนจนประสบผลสำเร็จ สามารถเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นมาศึกษาเรียนรู้ได้ 
โดยใช้พื้นที่จริงของชุมชน อธิบายผ่านแผนที่และภาพความเปลี่ยนแปลง ให้เข้าใจง่าย และสามารถนำไปปรับใช้ได้
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ วังบัวแดง จังหวัดหนองคาย ตั้งอยู่ที่ชุมชนตำบลเวียงคุก อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นชุมชนที่ดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยชาวบ้านได้ช่วยกันปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างน้ำในพื้นที่ สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในพื้นที่ ฟื้นคืนความสมดุลสู่ธรรมชาติ จนเกิดเป็นระบบนิเวศที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจขึ้น นั่นคือ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีดอกบัวแดงงอกงามขึ้นมาในหนองน้ำสาธารณะของชุมชน และบานงดงามเต็มผืนน้ำ กลายเป็นที่มาของคำว่า “วังบัวแดง”




วังบัวแดง มีพื้นที่ราว ๔,๗๖๘ ไร่ ครอบคลุม ๒ ตำบล ได้แก่ ตำบลเวียงคุกและตำบลปะโค เดิมมีชื่อเรียกว่า หนองเบ็น-หนองบ่อ เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ชาวบ้านในละแวกนั้นใช้เพื่อการเกษตร ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำแห่งนี้ นอกจากจะมีดอกบัวแดงบานสะพรั่งในช่วงเช้าตรู่จนถึงเที่ยงเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้วยังมีสัตว์น้ำมากมายเจริญพันธุ์ เช่น ปลาช่อน ปลาขาว ปลาตะเพียน ปลากราย  เป็นแหล่งทำประมงขนาดย่อมเพื่อการยังชีพประจำถิ่นอีกด้วย  ซึ่งจุดเด่นเหล่านี้จะหล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบวังบัวแดง ให้เกิดความหวงแหน อนุรักษ์ และพึ่งพาธรรมชาติ ได้อย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น